วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษา

การออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษา (Therapeutic exercise)
การออกกำลังเพื่อเพิ่มพิสัยของข้อ (range of motion exercise)
เมื่อแขนขาส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้เคลื่อนไหวมักจะมีการติดของข้อเกิดขึ้น จากการหดสั้นของกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อรอบๆข้อ มีการเพิ่มของcollagen และ reticulin ในเนื้อเยื่อบริเวณนั้น ร่วมกับการหล่อลื่นของข้อลดลง มีการเปลี่ยนแปลงความหนืดของข้อ ซึ่งการยึดติดนี้สามารถป้องกันและรักษาได้ด้วยการออกกำลัง
การออกกำลังเพื่อวัตถุประสงค์นี้ แบ่งได้เป็น 4 วิธี คือ
1. Active exercise คือให้ผู้ป่วยเป็นผู้ออกกำลังเคลื่อนไหวข้อด้วยตนเอง
2. Active assistive exercise ให้ผู้ป่วยออกกำลังด้วยตัวเองให้มากที่สุด แล้วจึงช่วยให้เคลื่อนไหวจนสุดพิสัยของข้อ
3. Passive exercise กรณีผู้ป่วยไม่มีกำลังเคลื่อนไหวข้อ ให้ผู้บำบัดเป็นผู้ขยับเคลื่อนไหวข้อให้เอง
4. Passive stretching exercise ผู้บำบัดช่วยดัดเพื่อเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหว
การออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและคงทน (exercise for strength and endurance)
ความแข็งแรง (strength) ของกล้ามเนื้อ หมายถึงแรงตึงตัว (tension) สูงสุดที่กล้ามเนื้อทำได้ในการหดตัว ความคงทน (endurance) คือความสามารถของกล้ามเนื้อที่จะหดตัวทำงานได้เป็นเวลานานหรือคือความทนทานในการทำงานการออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและคงทน จะทำได้โดยให้ผู้ป่วยออกแรงทำเอง (activeexercise) ซึ่งสามารถทำได้ใน 3 รูปแบบคือ isometric, isotonic, isokinetic โดยถ้าต้องการเพิ่มความแข็งแรงต้องออกกำลังโดยให้กล้ามเนื้อหดตัวด้วยแรงสูงสุด หรือเกือบสูงสุด ในขณะที่จำนวนครั้งอาจไม่มากนัก แต่ถ้าต้องการเพิ่มความคงทนต้องออกกำลังโดยใช้แรงต้านน้อย และจำนวนครั้งมาก
การออกกำลังเพื่อผึกการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อ (coordination exercise)
การที่กล้ามเนื้อจะทำงานประสานกันได้ดีราบรื่น ต้องอาศัยการทำงาประสานกัน 3 ระดับ คือระดับสมองและระบบประสาท ระดับกลุ่มของกล้ามเนื้อ และระดับ motor unitหลักการฝึกจะเริ่มตั้งแต่การฝึกกล้ามเนื้อแต่ละมัด หรือเรียกว่า muscle reeducation เป็นการฝึกในระยะแรก เมื่อทำได้ดีแล้วจึงทำการฝึกต่อในขั้นถัดไป คือ neuromuscular coordination ซึ่งมีรายละเอียดในวิธีการฝึกมากมายหลายวิธี
การออกกำลังกายเพื่อการผ่อนคลาย (relaxation exercise)
ใช้ในรายที่มีอารมณ์ตึงเครียด หรือมีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการปวด หลักการต้องจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่สบายและผ่อนคลายที่สุด จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการพัก ไม่มีสิ่งรบกวนหรือกระตุ้น ผู้บำบัดจะสอนให้เรียนรู้การผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึงแข็ง และให้ทราบความรู้สึกที่แตกต่างกันระหว่าง ความตึงเครียดกับการผ่อนคลาย ทำซ้ำหลายๆ ครั้ง จนผู้ป่วยสามารถผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้เต็มที่ และสามารถบังคับได้แม้ในภาวะแวดล้อมที่ต่างกันออกไป หรืออาจใช้เครื่องมือทางไฟฟ้ามาช่วยในการฝึกก็ได้ ได้แก่ biofeedback

องค์ประกอบของการออกกำลังกาย



องค์ประกอบของการออกกำลังกาย
1. ช่วงการอุ่นเครื่อง (warm up) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายและกล้ามเนื้อ เพื่อกระตุ้นให้เลือด และออกซิเจนมาเลี้ยงกล้ามเนื้อ กระตุ้นการทำงานของเอ็นไซม์ สามารถช่วยลดอุบัติการณ์เกี่ยวกับเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอในขณะออกกำลังกาย ลดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อและกระดูก รวมทั้งช่วยลดความตื่นเต้น และเพิ่มความมั่นใจ ใช้เวลาในช่วงนี้ประมาณ 5-10นาที
2. ระยะการออกกำลังกาย (training) จะต้องมีการกำหนดองค์ประกอบต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของการออกกำลังกาย องค์ประกอบเหล่านี้ ได้แก่ ความรุนแรง หรือความหนักของการออกกำลังกายระยะเวลา ความถี่ และชนิดของการออกกำลังกาย
ความรุนแรง หรือความหนัก (intensity) เป็นองค์ประกอบส่วนที่สำคัญที่สุดของการออกกำลังกาย ในกลุ่มที่เริ่มออกกำลังใหม่ๆ ควรใช้ความรุนแรงต่ำ และใช้เวลาในแต่ครั้งนานๆ ที่สำคัญคือ เพื่อการปรับตัวที่ดีของระบบหัวใจและหลอดเลือด ขึ้นอยู่กับการออกกำลังที่รุนแรงมากขึ้นความรุนแรงของการออกกำลัง นิยมใช้การวัดโดยดูจากอัตราการเต้นของหัวใจ โดยให้ประมาณ 60%ของช่วงของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด ดังนี้
ชีพจรสูงสุด (Maximum HR) = 220 – อายุ
ชีพจรที่ต้องการขณะออกกำลังกาย (Target HR) = 60%(220 - อายุ)
ระยะเวลา (duration) จะสัมพันธ์โดยตรงกับความรุนแรง ช่วงเวลาในการออกกำลังกายที่ดีที่สุด คือ 15-60 นาที และเมื่อออกกำลังน้อยกว่า 5 นาที จะไม่มีผลต่อการปรับตัวของระบบหัวใจและหลอดเลือด
ความถี่ (frequency) ควรออกกำลังกาย 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ จึงจะเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการพัฒนาให้ระบบต่างๆ ของร่างกายดีขึ้น หรือ ออกกำลัง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ถ้าต้องการเพียงเพื่อรักษาระดับ
3. ช่วงของการผ่อนคลาย (cool down) เป็นระยะสุดท้ายของการออกกำลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อลดระดับกรดแลคติก มีผลดีในระยะฟื้นตัว ช่วยลดภาวะ muscle soreness ได้ และยังเป็นการป้องกัน การลดลงของความดันโลหิตทันที ซึ่งอาจทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงสมองและหัวใจขาดแคลน


การใช้พลังงานในการทำงานของกล้ามเนื้อ

การใช้พลังงานในการทำงานของกล้ามเนื้อ

ATP คือ สารเคมีที่มีการเก็บสะสมพลังงานไว้ในพันธะเคมีภายในโมเลกุลซึ่งนับเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของเซลล์ ประกอบด้วยเบสอะดีนีนและนํ้าตาลไรโบส แล้วจึงต่อด้วยหมู่ฟอสเฟต 3หมู่ขณะที่สิ่งมีชีวิตดำรงชีวิตอยู่เซลล์ก็จะสลาย

ATP=Adenosine triphosphate และเปลี่ยนไปเป็น

ADP=Adenosine diphosphate เพื่อให้ได้พลังงานสำหรับใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ
ร่างกายจะใช้พลังงานจาก ATP ที่มีสะสมอยู่ก่อน จากนั้นจะมีการสร้าง ATP กลับขึ้นมาใหม่ โดยวิธีการดังต่อไปนี้
1. ระบบ ATP-CP เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญในช่วง 30 วินาทีแรก ใช้พลังงานจากcreatinine phosphate ไม่ใช้ออกซิเจน ไม่เกิดกรดแลคติกสะสมในกล้ามเนื้อ
2. ระบบแอนแอโรบิก เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญในช่วง 30-90 วินาที ใช้พลังงานจากglycogen และ glucose ไม่ใช้ออกซิเจน และเกิดmetabolic by product เป็นกรดแลคติก
3. ระบบแอโรบิก เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ เมื่อออกกำลังกายต่อเนื่องนานเกินกว่า 2-3นาที เป็นต้นไป ใช้พลังงานจากกลูโคส ไขมัน โปรตีน ต้องใช้ออกซิเจนในการสังเคราะห์มีความสามารถสูงสุดในการสร้าง ATPโดยทั่วไปการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ( Aerobic Exercise) เป็นการออกกำลังกายที่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต้องออกกำลังกายติดต่อกันในช่วงระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 20 นาที กิจกรรมการออกออกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น วิ่งหรือว่ายน้ำระยะไกล การปั่นจักรยานทางไกล การเต้นแอโรบิคหรือกิจกรรมกีฬาอะไรก็ได้ที่มีการเคลื่อนของร่างกายอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราการเต้นของหัวใจ
มากกว่าอัตราการเต้นในขณะพัก

ประเภทของการออกกำลังกาย


การแบ่งประเภทของการออกกำลังกายสามารถแบ่งได้หลายแบบ ดังนี้

แบ่งตามลักษณะของการใช้พลังงาน
1. Anaerobic exercise เป็นการออกกำลังกาย ซึ่งใช้พลังงานแบบที่ไม่ใช้ออกซิเจน
2. Aerobic exercise เป็นการออกกำลังกายที่ใช้พลังงานโดยอาศัยออกซิเจน

แบ่งตามลักษณะการเคลื่อนที่ของข้อและกล้ามเนื้อ
1. Isometric exercise เป็นการออกกำลังกายโดยไม่มีการเปลี่ยนความยาวของกล้ามเนื้อ และไม่มีการเคลื่อนที่ของข้อ
2. Isotonic exercise เป็นการออกกำลังโดยมีการเปลี่ยนแปลงความยาวของกล้ามเนื้อ และมีการเคลื่อนที่ของข้อ โดยแรงต้านทานคงที่ ซึ่งมี 2 แบบ คือ
a. ชนิดที่กล้ามเนื้อหดตัวขณะเกร็งสู้แรงต้านทาน (concentric)
b. ชนิดที่ที่กล้ามเนื้อมีการยืดตัวขณะเกร็งสู้แรงต้านทาน (eccentric)
3. Isokinetic exercise เป็นการออกกำลังโดยมีการเปลี่ยนแปลงความยาวของกล้ามเนื้อ และมีการเคลื่อนที่ของข้อ โดยมีความเร็วในการเคลื่อนไหวของข้อคงที่ และให้ความตึงตัวของกล้ามเนื้อสูงสุดตลอดเวลา

แบ่งตามวัตถุประสงค์ของการออกกำลังเพื่อการรักษา (Therapeutic exercise)
1. ออกกำลังเพื่อเพิ่มพิสัยของข้อ (range of motion exercise)
2. ออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรง และคงทน (exercise for strength and endurance)
3. ออกกำลังเพื่อเพิ่มความสามารถในการประสานงานของกล้ามเนื้อ (coordination exercise)
4. ออกกำลังเพื่อการผ่อนคลาย (relaxation exercise)

แบ่งตามผู้ออกแรง
1. active exercise คือให้ผู้ป่วยออกแรงทำเองทั้งหมด มักใช้ในกรณีที่ไม่มีการติดของข้อ
2. passive exercise ผู้ป่วยอยู่เฉยๆ โดยจะมีผู้บำบัดหรือเครื่องมือช่วยในการเคลื่อนไหวข้อมักจะใช้การออกกำลังแบบนี้ในกรณีที่พิสัยของข้อปกติ แต่ผู้ป่วยไม่มีแรงที่จะขยับข้อได้เองหรือ ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว
3. active assistive exercise ให้ผู้ป่วยทำเองให้มากที่สุด แล้วจึงใช้แรงจากภายนอกช่วยให้เคลื่อนไหวจนครบพิสัยของข้อ มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยอ่อนแรง
4. passive stretching exercise ให้ผู้ป่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ แล้วใช้แรงจากภายนอกดัดข้อให้ยืดออก

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผลของการออกกำลังกาย


ผลทางสรีระวิทยาของการออกกำลังกาย
1. การปรับตัวในระยะแรก (response) ขณะที่กำลังออกกำลังกายหรือหลังการออกกำลังกายทันที จะพบว่า มีชีพจรเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น เมื่อหยุดออกกำลังกาย การเปลี่ยนแปลงก็จะกลับเป็นเหมือนเดิม
2. การปรับตัวในระยะหลัง (adaptation or training effect) การเปลี่ยนแปลงแบบนี้ต้องใช้เวลาในการออกกำลังกายนาน และสม่ำเสมอจึงจะเกิดผล และผลที่เกิดขึ้นจะไม่หายไป หลังจากการออกกำลังกาย ผลจากการปรับตัวแบบนี้ คือจุดมุ่งหมายที่เราต้องการในการฝึกผู้ป่วยให้ออกกำลังเพื่อการบำบัดรักษา

ตัวอย่างผลของการออกกำลังกาย ต่อระบบต่างๆ ของร่างกายในระยะที่มีการปรับตัวแล้ว

ระบบหัวใจและหลอดเลือด

- มีการลดลงของอัตราการเต้นของหัวใจในขณะพัก
- การไหลเวียนของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจดีขึ้น
- ลดความดันโลหิต
- เพิ่มปริมาณเลือด (blood volumn) และ hemoglobin
- ลดอัตราการใช้ออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจ

ระบบหายใจ

- เพิ่มปริมาตรของปอด (lung volumn)
- ความจุปอด (vital capacity) เพิ่มขึ้น
- เพิ่ม maximal minute ventilation ขณะออกกำลังกาย
- กล้ามเนื้อทรวงอกแข็งแรงขึ้น
- ประสิทธิภาพการไอดีขึ้น
- อัตราส่วนพื้นที่การแลกเปลี่ยนก๊าซ และเลือดดีขึ้น ทำให้ความสามารถในการแลกเปลี่ยน
ก๊าซ (diffusion capacity) ดีขึ้น

                                                                      ระบบประสาท

ในขณะออกกำลังกายจะมีการเพิ่มอัตราการส่งกระแสประสาทมายังกล้ามเนื้อและข้อต่างๆ เป็นการกระตุ้นการรับรู้และสั่งงานของระบบนี้ จะช่วยทำให้มีการตื่นตัว และมีการทำงานประสานกันได้ดีขึ้น

ระบบทางเดินอาหาร

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะทำให้การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร แต่ถ้าออกกำลังกายหนักมากขึ้นกระเพาะอาหารอาจทำงานน้อยลง หรือหยุดทำงาน เพื่อให้ร่างกายนำพลังงานไปใช้ในการออกกำลังกายก่อน